skip to Main Content

เรื่องของดัชนีหุ้นไทยที่นักลงทุนมือใหม่ควรรู้จัก

เมื่อพูดถึงตลาดหุ้น หลายคนคงเคยได้ยินประโยคเหล่านี้ตามสื่อต่าง ๆ ที่กล่าวกันว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ ปิดตลาดดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,739.24 เพิ่มขึ้น 8.64 จุด” และยังเกิดความสงสัยว่าดัชนีหุ้นที่กล่าวมามันคืออะไร?

ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่สงสัยต้องบอกว่าบทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักว่าดัชนีหุ้นไทยที่ควรทราบมีอะไรบ้าง แล้วเราจะได้ประโยชน์อะไรจากดัชนีหุ้น ซึ่งผมเชื่อว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับดัชนีหุ้นไทยมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

ดัชนีหุ้น คืออะไร?

ดัชนี มีความหมายว่า เครื่องชี้วัด เมื่อนำมารวมกับคำว่าหุ้นก็จะมีความหมายว่าเครื่องชี้วัดตลาดหุ้น ซึ่งดัชนีหุ้นเกิดจากการคำนวณทางสถิติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลง ให้มองเห็นภาพโดยรวมที่จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่มือใหม่ควรทำความรู้จัก ได้แก่ SET Index, SET50 Index, SET100 Index, SETHD Index, mai Index และล่าสุด sSET Index ซึ่งดัชนีแต่ละตัวจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับอะไร เราจะได้รู้จักในบทความนี้ โดยจุดประสงค์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการจัดทำดัชนีที่หลากหลายประเภทก็เพื่อให้นักลงทุนสามารถเห็นการเคลื่อนไหวของหุ้นแต่ละขนาดได้ชัดเจนและมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนได้หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของเรา เพื่อเป็นการไม่ให้เสียเวลา เรามาเริ่มกันเลยครับ

ตัวที่ 1 SET Index

(ภาพการเคลื่อนไหวของ SET Index โดยราคาดัชนีปิดอยู่ที่ระดับ 1,739.92 จุด ณ วันที่ 05/04/18 )

SET Index คือ ดัชนีราคาหุ้นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (The Stock Exchange of Thailand) นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า ดัชนีหุ้นไทย” (เราได้ยินตามสื่อต่าง ๆ ส่วนมากจะหมายถึง SET Index) เริ่มจัดขึ้นในวันที่ 30 เมษายน 2518 ซึ่งเป็นวันแรกที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เริ่มเปิดดำเนินการซื้อขาย โดย SET Index ตั้งขึ้นเพื่อเป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมไปถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะถูกคำนวณในดัชนีด้วยเช่นกัน ยกเว้น

  • หุ้นที่ขึ้นเครื่องหมาย SP เกิน 1 ปี
  • ผลิตภัณฑ์ทางการเงินชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หุ้นสามัญ

ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 05/04/18 มีหุ้นที่ถูกนำมาใช้ในการคำนวณ SET Index ทั้งหมด 605 ตัว (สามารถดูได้ที่ https://www.set.or.th/set/marketstatistics.do)

          วิธีคำนวน SET Index ใช้วิธีคำนวณดัชนีโดยวิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าราคาตลาด (Market Capitalization Weighted) ด้วยการเปรียบเทียบระหว่างมูลค่าราคาตลาดรวม ณ วันปัจจุบันกับมูลค่าตลาดรวม ณ วันฐาน ซึ่งก็คือ วันที่ 30 เมษายน 2518 โดยค่าฐานของดัชนีที่ 100 จุด มีสูตรตามภาพ

(มูลค่าตามราคาตลาดของหุ้น คือตัวบ่งบอกว่าบริษัทนี้ มีมูลค่าทั้งหมดเป็นเท่าใด โดยสามารถหาได้จากการนำเอาราคาปัจจุบันของหุ้น x จำนวนหุ้นสามัญที่ชำระแล้ว และมูลค่าราคาตลาดรวม คือมูลค่าราคาตลาดของหุ้นทุก ๆ ตัวที่ถูกนำมาใช้คำนวณ)

          การคำนวณวิธีนี้จะทำให้ หุ้นตัวใดที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของดัชนีสูงตามไปด้วย ในทางตรงกันข้ามหุ้นตัวใดมีมูลค่าตามราคาตลาดต่ำ ก็จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของดัชนีต่ำดังนั้นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อการเคลื่อนไหวของ SET Index คือมูลค่าตามราคาตลาด ยิ่งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นมีมูลค่าราคาตลาดสูงขึ้นเท่าใด SET Index ก็จะมีมูลค่าสูงขึ้นตามไปด้วย

ตัวที่ 2 SET50 และ SET100 Index

(ภาพการเคลื่อนไหวของ SET50 Index โดยราคาดัชนีปิดอยู่ที่ระดับ 1,147.21 จุด ณ วันที่ 05/04/18)

นอกเหนือจาก SET Index ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการจัดทำดัชนี SET50 และ SET100 ขึ้น เพื่อให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย SET50 Index จะคำนวณโดยใช้หุ้นสามัญจดทะเบียนที่ผ่านการคัดเลือก 50 อันดับแรก และ SET100 Index คำนวณโดยใช้หุ้นสามัญจดทะเบียนที่ผ่านการคัดเลือก 100 อันดับแรก ซึ่งหุ้นที่จะเข้าอยู่ใน SET50 และ SET100 มีเกณฑ์คัดเลือกหลักดังต่อไปนี้

  • เป็นหุ้นสามัญที่ซื้อขายในตลาด และจดทะเบียนมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน (ยกเว้นกรณีหลักทรัพย์ที่ได้รับคัดเลือกตามเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงรายชื่อหลักทรัพย์ระหว่างรอบ)
  • ไม่นำหลักทรัพย์ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เกิน 20 วันมาคำนวณ
  • หุ้นมีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) สูงสุด 200 ลำดับแรก โดยพิจารณาจากมูลค่าเฉลี่ยต่อวันย้อนหลัง 3 เดือน
  • หุ้นที่มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ผ่านเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 20% ของทุนชำระแล้ว
  • หุ้นมีมูลค่าการซื้อขายอย่างสม่ำเสมอตามสภาพปกติของตลาด
  • เป็นหุ้นที่มีจำนวนหุ้นซื้อขายไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียน

(สามารถดูข้อมูลเกณฑ์การคัดเลือกเพิ่มเติมได้ที่ หลักเกณฑ์การจัดทำดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ

หุ้นตัวไหนที่ผ่านคุณสมบัติจะได้รับจัดอันดับตามมูลค่าตามราคาตลาด โดยอันดับ 1-50 จะถูกจัดอยู่ใน SET50 และลำดับ 1-100 จะถูกจัดรวมอยู่ใน SET100 และทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดให้มีการพิจารณาปรับหุ้นที่ใช้ในการคำนวณปีละ 2 ครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน และธันวาคม

วิธีคำนวน SET50 และ SET100 Index ใช้วิธีคำนวณเช่นเดียวกับ SET Index คือวิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าราคาตลาด แต่จะต่างตรงที่ใช้หุ้นเพียง 50 และ 100 ตัวในการคำนวณ และใช้มูลค่าตลาดรวม ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2538 และ SET100 Index ใช้มูลค่าตลาดรวม ณ วันที่ 30 เมษายน 2548 เป็นวันฐาน โดยทั้งสองมีค่าดัชนีฐาน 1,000 จุด โดยมีสูตรตามภาพ

ดังนั้นหุ้นที่สามารถเข้าไปอยู่ใน SET50 ได้ หุ้นตัวนั้นจะมีมูลค่าราคาตลาดสูง เป็นหุ้นขนาดใหญ่และผู้ลงทุนส่วนใหญ่สนใจ ซึ่งในมุมมองผู้เขียนมองว่าเกือบจะเป็นตัวแทนของตลาดหุ้นทั้งหมด เพราะมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของดัชนี SET มาก ส่วน SET100 เป็นหุ้นที่ขนาดเล็กรองลงมาจาก SET50 ซึ่งขนาดจะอยู่ในระดับกลาง ๆ

ผู้อ่านสามารถเข้าดูรายชื่อหุ้นที่อยู่ใน SET50 ได้ โดยการคลิกที่นี่ SET50 และ SET100

ตัวที่ 3 mai Index

(ภาพการเคลื่อนไหวของ mai Index โดยราคาดัชนีปิดอยู่ที่ระดับ 475.56 จุด ณ วันที่ 05/04/18)

mai Index เป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอทั้งหมด (สำหรับผู้ที่ไม่ทราบว่า mai คืออะไร ขอนิยามสั้น ๆ นะครับ mai เป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีวัตถุประสงค์เดียวกับ SET คือ ทำหน้าที่เป็นตลาดทุนที่ให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาระดมทุน แต่แตกต่างที่บริษัทเข้ามาจดทะเบียนจะเป็นกิจการขนาดกลาง ไปจนถึงขนาดย่อม)

ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 05/04/18 มีหุ้นที่ถูกนำมาใช้ในการคำนวณ mai Index ทั้งหมด 152 ตัว

(สามารถดูได้ที่ลิงค์ https://www.set.or.th/set/marketstatistics.do)

วิธีคำนวณ mai Index ใช้วิธีคำนวณเช่นเดียวกับ SET Index คือวิธีคำนวณดัชนีโดยวิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าราคาตลาด แต่จะต่างตรงใช้หุ้นในตลาด mai ในการคำนวณ โดยใช้มูลค่าตลาดรวม ณ วันฐาน วันที่ 2 กันยายน 2545 และค่าดัชนีฐานที่ 100 จุด มีสูตรตามภาพ

ผู้อ่านสามารถเข้าดูรายชื่อหุ้นที่อยู่ใน mai ได้ โดยการคลิกที่นี่ mai

ตัวที่ 4 SETHD Index

(ภาพการเคลื่อนไหวของ SETHD Index โดยราคาดัชนีปิดอยู่ที่ระดับ 1,319.14 จุด ณ วันที่ 05/04/18)

นอกเหนือจากดัชนี SET50 และ SET100 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดตั้งดัชนีที่มีชื่อว่า SETHD (SET High Dividend 30 Index) ขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 กรกฏาคม 2554 เพื่อเป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญที่มีการจ่ายเงินปันผลสูงอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงมีมูลค่าตามราคาตลาดสูง มีสภาพคล่องสูงอย่างสม่ำเสมอ โดยคัดเลือกมาเพียง 30 ตัว มีเกณฑ์คัดเลือกหลักดังต่อไปนี้

  • เป็นหุ้นที่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในดัชนี SET100
  • ต้องมีการจ่ายเงินปันผล (Cash Dividend) ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง 3 ปีล่าสุด
  • ต้องมีอัตราส่วนการจ่ายปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout Ratio) ไม่เกิน 100% ในแต่ละปี ย้อนหลัง 3 ปี

โดยทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนำหุ้นที่ผ่านเกณฑ์ที่อยู่ใน SET100 มาจัดเรียงลำดับตามอัตราผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend Yield) จากมากไปหาน้อย โดยอันดับ 1-30 จะถูกใช้คำนวณดัชนี SETHD (อันดับ 31-35 ถูกเก็บไว้สำรอง) ต่อมาจะนำหุ้นทั้ง 30 ตัวนั้นมาคำนวณด้วยวิธีคำนวณเช่นเดียวกับ SET Index คือวิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าราคาตลาด แต่จะนำมาถ่วงน้ำหนักด้วยอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลด้วย (Dividend Yield) โดยใช้มูลค่าตลาดรวม ณ วันฐาน วันที่ 30 มิถุนายน 2554 และค่าดัชนีฐานที่ 1,000 จุด มีสูตรตามภาพ

จากการคำนวณแสดงว่าหุ้น 30 ตัวที่ถูกคัดเลือกตัวที่มีมูลค่าตลาดรวมสูงย่อมมีผลต่อดัชนี SETHD มาก

โดยทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดให้มีการพิจารณาปรับหุ้นที่ใช้ในการคำนวณ SETHD Index ปีละ 2 ครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน และธันวาคม

ผู้อ่านสามารถเข้าดูรายชื่อหุ้นที่อยู่ใน SETHD ได้ โดยการคลิกที่นี่ SETHD

ตัวที่ 5 sSET Index

(ภาพการเคลื่อนไหวของ sSET Index โดยราคาดัชนีปิดอยู่ที่ระดับ 965.16 จุด ณ วันที่ 05/04/18)

sSET Index (เอสเซ็ท) เป็นดัชนีราคาหุ้นล่าสุดที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญที่จดทะเบียนใน SET แต่อยู่นอกเหนือการคำนวณในดัชนี SET50 และ SET100 ที่มีอยู่เดิม และก็ไม่ได้อยู่ในตลาด mai หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหุ้นที่มีขนาดกลางถึงเล็ก โดยข้อมูล ณ วันที่ 05/04/2018 มีหุ้นที่ถูกนำมาใช้ในการคำนวณ sSET Index ทั้งหมด 112 ตัว มีเกณฑ์คัดเลือกหลักดังต่อไปนี้

  • มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) สะสมอยู่ในลำดับ 90-98% ของหุ้นสามัญทั้งตลาด เมื่อเรียงลำดับมูลค่าตามราคาตลาดจากมากไปน้อย โดยพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเฉลี่ยต่อวันย้อนหลัง 3 เดือน
  • เป็นหุ้นที่อยู่นอกเหนือการคำนวณในดัชนี SET100
  • มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free-float) อย่างน้อย 20% ของทุนชำระแล้ว
  • จำนวนหุ้นซื้อขายในแต่ละเดือนไม่น้อยกว่า 0.5% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 9 ใน 12 เดือน

หุ้นที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกจะถูกจัดอยู่ในรายชื่อของดัชนี sSET Index โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจำนวนหุ้นทั้งหมดจะเป็นเท่าใด ดังนั้นในแต่ละรอบที่มีการคัดเลือกหุ้นเข้าคำนวณในดัชนี sSET ยิ่งมีหุ้นที่เข้าเกณฑ์มากเท่าใด จำนวนหุ้นใน sSET Index ก็จะมากตามไปด้วย ซึ่งแตกต่างกับดัชนี SET50, SET100 และ SETHD ที่มีการจำกัดจำนวนตายตัว และการพิจารณาปรับหุ้นที่ใช้คำนวณก็จะปรับเปลี่ยนปีละ 2 ครั้งเช่นเดียวกับ SET50 , SET100 และ SETHD

วิธีคำนวณ sSET Index ใช้วิธีคำนวณเช่นเดียวกับ SET Index คือวิธีคำนวณดัชนีโดยวิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าราคาตลาด โดยมีวันฐานวันที่ 30 ธันวาคม 2559 ค่าดัชนีฐาน 1,000 จุด โดยมีสูตรตามภาพ

ผู้อ่านสามารถเข้าดูรายชื่อหุ้นที่อยู่ใน sSET ได้ โดยการคลิกที่นี่ sSET

โดยสรุปราคาของดัชนีทั้งหมดที่กล่าวในบทความนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามมูลค่าโดยรวมของบริษัทในตลาดหุ้น ยิ่งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นมีมูลค่าสูงขึ้น ดัชนีเหล่านี้ก็จะมีมูลค่าสูงขึ้นตามไปด้วย

สรุปประโยชน์ของดัชนีหุ้น

  1. ใช้ในการสะท้อนการเคลื่อนไหว และสภาวะของหุ้นที่มีการซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
  2. สามารถใช้ดัชนีมาเป็น Performance Benchmark เพื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนของตนเอง
  3. สามารถนำไปอ้างอิงเปรียบเทียบระหว่างดัชนีของแต่ละที่ เช่น ระหว่างดัชนีหุ้นไทย (SET Index) กับดัชนีหุ้นฮ่องกง (Hang Seng Index) เป็นต้น (ควรวัดเปรียบเทียบกับดัชนีที่มีการคำนวณด้วยหลักวิธีการเดียวกัน)
  4. เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการคาดการณ์ทิศทาง และแนวโน้ม ซึ่งจะเป็นที่นิยมใช้สำหรับนักวิเคราะห์ทางเทคนิค
  5. ใช้ดัชนีมาเป็นตัวอ้างอิงในการออกตราสารทางการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวม ETF , ตราสารอนุพันธ์, ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants) และกองทุนรวม เป็นต้น

สุดท้ายนี้สำหรับนักลงทุนทั้งมือเก่าและมือใหม่ การรู้และเข้าใจในเรื่องของดัชนี และประเภทของดัชนีหุ้นไทยต่าง ๆ จะช่วยให้การลงทุน และการตัดสินใจของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุก ๆ ท่านนะครับ

แชร์เพจ
Back To Top