skip to Main Content

เป็นนักลงทุนมือใหม่ บัญชีหุ้นแบบไหนเหมาะกับเรา

หลังจากที่เราเลือกได้แล้วว่าจะเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับโบรกเกอร์ไหนดี ยังมีอีกขั้นตอนหนึ่งที่เราต้องตัดสินใจ คือ เราจะเปิดบัญชีหุ้นประเภทไหนดี เนื่องจากในการเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายหุ้นนั้นจะมีประเภทของบัญชีให้เราเลือกเปิดได้ 3 แบบ ได้แก่ 1) บัญชีเงินสด (Cash Account) 2) บัญชีวางหลักประกันเต็มจำนวน (Cash Balance) และ 3) บัญชีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ (Credit Balance)

ในบทความนี้ผมจะมาอธิบายรายละเอียดให้ได้รู้กันครับว่า บัญชีแต่ละประเภทมีลักษณะเป็นอย่างไร ความแตกต่างของบัญชีแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง และบัญชีแต่ละประเภทเหมาะกับนักลงทุนที่มีลักษณะอย่างไร

1. บัญชีเงินสด (Cash Account)

บัญชีเงินสดเป็นบัญชีที่นักลงทุนต้องซื้อหุ้นด้วยเงินสดเต็มตามมูลค่าที่ซื้อ โดยจะชำระเงินค่าซื้อหุ้นในวันทำการที่ 2 (T+2) หลังจากวันที่เราซื้อหุ้น สำหรับกรณีที่เราขายหุ้นก็จะได้รับเงินในวันที่ T+2 ด้วยเช่นเดียวกัน

กลไกการซื้อขายหุ้นในบัญชีเงินสดนั้น ขั้นแรกผู้ลงทุนจะต้องมีหลักประกันอยู่ในบัญชีก่อน ซึ่งหลักประกันจะเป็นเงินสดหรือหุ้นก็ได้อย่างน้อย 20% ของมูลค่าที่จะสั่งซื้อ โดยซื้อขายหุ้นสูงสุดต่อวันได้ไม่เกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากโบรกเกอร์ เช่น ถ้าเราต้องการซื้อหุ้นมูลค่า 100,000 บาท เราจะต้องมีเงินหรือหุ้นอยู่ในบัญชีมูลค่าไม่น้อยกว่า 20,000 บาท หลังจากที่เราซื้อหุ้นไปแล้วเราค่อยจ่ายเงินจำนวน 100,000 บาท จะหักจากบัญชีของเราโดยอัตโนมัติในอีก 2 วันทำการถัดไป และหุ้นที่เราถืออยู่ในพอร์ตก็สามารถนำมาเป็นหลักประกันในการซื้อหุ้นครั้งถัด ๆ ไปได้

ผู้ที่เหมาะกับบัญชีประเภท Cash Account คือ นักลงทุนทั่วไป แต่อาจจะต้องมีวินัยในการซื้อขายพอสมควร เนื่องจากสามารถชำระเงินหลังจากซื้อหุ้นไปแล้ว 2 วันทำการ

2. บัญชีวางหลักประกันเต็มจำนวน (Cash Balance)

บัญชีวางหลักประกันเต็มจำนวนเป็นบัญชีที่เราต้องนำเงินสดไปฝากไว้กับโบรกเกอร์ก่อน แล้วเราจึงจะซื้อหุ้นได้ตามจำนวนเงินที่เราเอาไปฝากไว้ (ฝากเงินเท่าใด ก็ซื้อได้เท่านั้น) เช่น เราอยากซื้อหุ้น มูลค่ารวม 100,000 บาท เราก็ต้องโอนเงินมูลค่า 100,000 บาท ฝากเข้าบัญชีก่อน ถึงจะสามารถทำการซื้อขายได้

ข้อดีของบัญชีประเภทนี้ คือ ช่วยป้องกันการซื้อหุ้นมากเกินความสามารถในการชำระเงิน ค่าคอมมิชชั่นต่ำกว่าบัญชีประเภท Cash Account และเงินที่นำมาฝากไว้กับโบรกเกอร์แต่ยังไม่ได้ถูกนำไปชำระค่าซื้อหุ้นก็จะได้รับดอกเบี้ยจากโบรกเกอร์อีกด้วย

ผู้ที่เหมาะกับบัญชีประเภท Cash Balance คือ นักลงทุนทั่วไป ที่ต้องการบริหารความเสี่ยงไม่ซื้อขายเกินเงินสดที่ตัวเองมีอยู่ และต้องการเสียค่าคอมมิชชั่นที่ต่ำลง

3. บัญชีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ (Credit Balance)

บัญชีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ หรือที่หลายคนเรียกว่า บัญชีมาร์จิ้น (Margin Account) เป็นบัญชีที่โบรกเกอร์ให้ลูกค้าของตนเองสามารถกู้ยืมเงินไปซื้อหุ้นได้ โดยที่ลูกค้าจะต้องจ่ายเงินสดบางส่วนและใช้เงินกู้ยืมจากโบรกเกอร์บางส่วน โดยส่วนที่กู้ยืมเพื่อนำไปซื้อหุ้นนั้นจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็นดอกเบี้ยที่โบรกเกอร์คิดกับลูกค้าในอัตราที่ตกลงกัน ยกตัวอย่างเช่น เราอยากซื้อหุ้น มูลค่ารวม 100,000 บาท เราก็สามารถนำเงินแค่ 50,000 บาทมาซื้อได้ (โบรกเกอร์จะให้เรายืมอีก 50,000 บาท และจะคิดดอกเบี้ยจากเงินยืมก้อนดังกล่าว)

จุดเด่นของบัญชี Credit Balance ที่โบรกเกอร์ให้ลูกค้ากู้ยืมเงินไปซื้อหุ้นได้ คือ อำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนสามารถซื้อหุ้นได้มากกว่าจำนวนเงินที่ตัวเองมีอยู่ และในการซื้อหุ้นจะใช้เงินที่ลูกค้าฝากเอาไว้นำไปจ่ายค่าหุ้นก่อน และกู้เฉพาะส่วนที่ขาดเท่านั้น

ผู้ที่เหมาะกับบัญชีประเภท Credit Balance คือ นักลงทุนที่มีความรู้และประสบการณ์ในตลาดหุ้นมาพอสมควร และมีความเข้าใจในด้านความเสี่ยงจากการซื้อขายหุ้นเป็นอย่างดี เนื่องจากอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้นจากการกู้ยืมมาซื้อหุ้นจะสามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้มากขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งกรณีที่ผลการลงทุนเป็นขาดทุนก็ช่วยเร่งให้อัตราการขาดทุนต่อเงินต้นมีมากขึ้นเช่นกัน

สรุป

การจะเลือกเปิดบัญชีประเภทใดนั้นสิ่งที่สำคัญ คือ เราควรที่จะรู้จักตัวเองและความต้องการด้านการลงทุนของตัวเองเสียก่อน จากนั้นก็เลือกเปิดบัญชีให้เหมาะกับตัวเรา ซึ่งสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มต้น ขอแนะนำให้เปิดบัญชีประเภท บัญชี Cash Account หรือ Cash Balance ก่อนครับ แล้วเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น ต้องการอำนาจซื้อที่มากขึ้น ก็สามารถเปิดบัญชีประเภท Credit Balance ได้ แต่ต้องทราบว่าอำนาจซื้อที่มากขึ้นก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่มากขึ้นด้วย

แชร์เพจ
Back To Top