skip to Main Content

รู้จักนักลงทุนในตลาดหุ้นว่ามีใครบ้าง?

สำหรับนักลงทุนมือใหม่ นอกจากการศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนเบื้องต้นแล้ว สิ่งที่ไม่ควรละเลยหรือไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือการรู้จักกลุ่มนักลงทุนที่อยู่ในตลาดหุ้น เพราะเราสามารถนำข้อมูลปริมาณการซื้อขายของแต่ละกลุ่มมาใช้วิเคราะห์ และประกอบการตัดสินใจซื้อขายได้ เพื่อช่วยให้การลงทุนของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งข้อมูลการซื้อขายที่เผยแพร่โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแบ่งนักลงทุนออกเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะเป็นใครบ้าง และการซื้อขายของนักลงทุนแต่ละกลุ่มจะส่งผลอย่างไรกับตลาดหุ้น เราสามารถทำความรู้จักได้ง่าย ๆ จากบทความนี้

กลุ่มที่ 1กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ”

คือ กลุ่มนักลงทุนสถาบันที่อยู่ภายในประเทศ ซึ่งผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่อยู่ภายในประเทศ มีตัวอย่างเช่น

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • ธนาคารพาณิชย์
  • บริษัทเงินทุน
  • บริษัทประกันชีวิต
  • กองทุนประกันสังคม
  • กองทุนรวมที่ลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
  • กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
  • นิติบุคคลที่มีกองทุนต่าง ๆ เช่นที่กล่าวมาข้างต้นถือหุ้นรวมกันเกินกว่า 75% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด

(นักลงทุนสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมว่าผู้ลงทุนสถาบันได้แก่ใครบ้างที่ “ประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 4/2560” ในข้อที่ 4)

ในแวดวงตลาดหุ้น เรามักจะให้ฉายากลุ่มนักลงทุนกลุ่มนี้กันว่า “กอง” อาจจะเพราะว่ากลุ่มของกองทุนมีบทบาทหรือมีปริมาณการซื้อขายสูงกว่ากลุ่มอื่น จึงทำให้ผู้ลงทุนมักใช้คำว่า กอง เป็นตัวแทนของทั้งกลุ่ม

สำหรับนักลงทุนกลุ่มนี้โดยปกติแล้วจะมีเป้าหมาย และกฏระเบียบในการลงทุนที่ชัดเจน เน้นการลงทุนในระยะยาว ไม่ซื้อ ๆ ขาย ๆ บ่อย ซึ่งปริมาณการซื้อขายของนักลงทุนกลุ่มนี้ จะค่อนข้างส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นโดยรวม และบทบาทของนักลงทุนสถาบันในประเทศก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ

กลุ่มที่ 2 “กลุ่มนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์”

คือ กลุ่มนักลงทุนบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ (Broker) โดยทั่วไปเราอาจจะเข้าใจว่าโบรกเกอร์จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับส่งคำสั่งซื้อขายเพียงเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว โบรกเกอร์ยังสามารถซื้อขายหุ้นเพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่ตัวเองได้ และยังเป็น Market Maker ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่องให้มีการซื้อขายอย่างต่อเนื่องในหลักทรัพย์หรือสินค้าที่ตัวเองดูแลสภาพคล่องอยู่ เพื่อให้นักลงทุนสามารถซื้อขายคล่อง รวมไปถึงเพื่อให้ราคาเป็นไปตามกลไกของตลาด

ในแวดวงตลาดหุ้น เรามักจะให้ฉายากลุ่มนักลงทุนกลุ่มนี้กันว่า “ปอบ” มาจากคำว่า Proprietary Trading ที่เป็นผู้คอยเทรดแสวงหาผลตอบแทนให้แก่โบรกเกอร์

กลุ่มที่ 3 “กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ”

คือ กลุ่มของนักลงทุนจากต่างชาติ ตั้งแต่นักลงทุนรายเล็ก ๆ  ไปถึงกองทุนต่างประเทศขนาดใหญ่ ๆ ในแวดวงตลาดหุ้นมักให้ฉายากันว่า “หรั่ง”

โดยทั่วไปนักลงทุนกลุ่มนี้มักจะลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงที่สุด เช่น ถ้าช่วงไหนตลาดหุ้นบ้านเราถูก หรือน่าลงทุน กลุ่มนักลงทุนกลุ่มนี้ก็จะย้ายเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นบ้านเรา ในทางกลับกันถ้าตลาดหุ้นบ้านเราแพงเกินไป หรือมองว่าโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนมีไม่มากแล้ว นักลงทุนกลุ่มนี้ก็พร้อมจะย้ายเงินไปหาตลาดอื่น ๆ ที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่มากกว่า ซึ่งกลุ่มนี้จะค่อนข้างมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นบ้านเราอยู่มาก และคนในตลาดส่วนใหญ่ให้ความสนใจ

กลุ่มที่ 4 “กลุ่มนักลงทุนทั่วไปในประเทศ”

คือ กลุ่มนักลงทุนที่อยู่ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายเล็กหรือรายใหญ่ นักลงทุนที่ลงทุนเป็นอาชีพ หรือนักลงทุนที่ลงทุนเป็นงานอดิเรก ก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้ทั้งหมดเช่นกัน ในแวดวงตลาดหุ้นมักให้ฉายากันว่า “เม่า”

นักลงทุนกลุ่มนี้จะมีจำนวน และมูลค่าซื้อขายมากที่สุดใน 4 กลุ่มแต่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดไม่เท่ากับนักลงทุนกลุ่มอื่น เนื่องด้วยนักลงทุนรายย่อยมีจำนวนเยอะก็จริง แต่เรื่องปริมาณการซื้อขายแต่ละรายจะไม่สูงมากนัก
นักลงทุนกลุ่มนี้อาจจะมีข้อได้เปรียบในการซื้อ ขายได้อย่างอิสระ ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรมากำหนด แต่ก็อาจจะมีข้อเสียเปรียบตรงความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลเมื่อเปรียบเทียบกับนักลงทุนกลุ่มอื่น ๆ อย่างไรก็ตามนักลงทุนกลุ่มนี้ก็มีหลายคนที่สามารถสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้แก่ตนเองได้ไม่ว่าจะเป็นบรรดาเสี่ยหุ้นต่าง ๆ ก็สร้างเนื้อ สร้างตัวมาจากการเป็นรายย่อยตัวเล็ก ๆ นี่เอง

เมื่อเราทำความรู้จักกลุ่มนักลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว เราสามารถนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการวิเคราะห์และประกอบการตัดสินใจได้ผ่านข้อมูล “การสรุปมูลค่าการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุน” (ข้อมูลตามภาพ) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ค่อนข้างจะมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดในเชิงจิตวิทยา สำหรับบางท่านอาจจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการวิเคราะห์แนวโน้มทิศทางของตลาด

(ข้อมูลสรุปการซื้อขาย ณ วันที่ 4 เม.ย. 2561 สามารถดูได้จากที่ทางตลาดหลักทรัพย์ประกาศที่ ข้อมูลสรุปการซื้อขาย ทุกสิ้นวันทำการหลังตลาดหุ้นปิด หลังช่วงเวลา 17.00 น.)

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนกลุ่มไหน กลุ่มใด ทุกคนต่างมีเป้าหมายสูงสุดเช่นกัน นั่นก็คือ การแสวงหาผลตอบแทนที่สูงสุดในความเสี่ยงที่ยอมรับได้

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ หวังว่าเนื้อหาในบทความตอนนี้จะทำให้ทุกท่านเข้าใจตลาดหุ้นมากยิ่งขึ้นนะครับ

แชร์เพจ
Back To Top